การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับการเรียนการสอน
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
เทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้สำหรับการสอน
เป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่าง ทำให้การเรียนการสอนด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย
ห้องเรียนสมัยใหม่ มีอุปกรณ์วิดีโอโปรเจคเตอร์ (Video Projector) มีเครื่องคอมพิวเตอร์ มีระบบการอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบต่างๆ
รูปแบบของสื่อการศึกษาที่นำมาใช้ในการเรียนการสอน ก็มีหลากหลาย
ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการนำมาใช้ เช่น มัลติมีเดีย อิเล็กทรอนิกส์ยุค
วิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ ระบบวิดีโอออนดีมานด์ ไฮเปอร์เท็กซ์ คอมพิวเตอร์
และระบบอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
คอมพิวเตอร์ช่วยสอน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นการนำเอาเทคโนโลยีรวมกับการออกแบบโปรแกรมการสอนมาใช้
ช่วยสอน ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่าบทเรียน ซีเอไอ ย่อมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า
Computer-Assisted Instruction หรือเรียก ย่อๆ ว่า ซีเอไอ
(CAI) การจัดโปรแกรมการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนในปัจจุบันมักอยู่ในรูปของสื่อ
ประสม (Multimedia) หมายถึงนำเสนอได้ทั้งภาพ ข้อความ
เสียง ภาพเคลื่อนไหวฯลฯ โปรแกรมช่วยสอนนี้เหมาะกับการศึกษาด้วยตนเอง
และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับบทเรียนได้ตลอด
จนมีผลป้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนรู้ บทเรียนได้อย่างถูกต้อง
และเข้าใจในเนื้อหาวิชาของบทเรียนนั้นๆ
ลักษณะคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจึงเป็นบทเรียนที่ช่วยการเรียนการสอน
และมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยจัดบทเรียนให้เป็นระบบและเหมาะสมกับนักเรียนแต่ ละคน
โดยมีลักษณะสำคัญๆ ดังนี้
1. เริ่มจากสิ่งที่รู้ไปสู่สิ่งที่ไม่รู้
จัดเนื้อหาเรียงไปตามลำดับจากง่ายไปสู่ยาก
2. การเพิ่มเนื้อหาให้กับผู้เรียนต้องค่อยๆ เพิ่มทีละน้อย
และมีสาระใหม่ไม่มากนักนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างเข้าใจ
3. แต่ละเนื้อหาต้องมีการแนะนำความรู้ใหม่เพียงอย่างเดียวไม่ให้ที่ละมากๆ
จนทำให้ผู้เรียนสับสน
4. ในระหว่างเรียนต้องให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับบทเรียน เช่น มีคำถามมีการตอบ
มีทำแบบฝึกหัด แบบทดสอบ
ซึ่งทำให้ผู้เรียนสนใจอยู่กับการเรียนไม่น่าเบื่อหน่าย
5. การตอบคำถามที่ผิด ต้องมีคำแนะนำหรือทบทวนบทเรียนเก่าอีกครั้ง
หรือมีการเฉลย ซึ่งเป็นการเพิ่ม เนื้อหาไปด้วย
ถ้าเป็นคำตอบที่ถูกผู้เรียนได้รับคำชมเชย
และได้เรียนบทเรียนต่อไปที่ก้าวหน้าขึ้น
6. ในการเสนอบทเรียนต้องมีการสรุปท้ายบทเรียนแต่ละบทเรียนช่วยให้เกิดการวัดผลได้ด้วยตนเอง
7. ทุกบทเรียนต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ให้ชัดเจน
ซึ่งช่วยให้แบ่งเนื้อหาตามลำดับได้ดี
ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
การนำเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยในการสอนมีประโยชน์หลายประการดังนี้
1. ทำให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนมากขึ้น
2. ทำให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้หลายแบบตามความถนัดของแต่ละบุคคล
3.ทำให้ไม่เปลืองสมองในการท่องจำสิ่งที่ไม่ควรจะต้องจำ
ใช้สมองในการคิดวิเคราะห์และ
ตัดสินใจแทน
4. ทำให้สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนได้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
5. ทำให้ผู้เรียนมีอิสรภาพในการเรียน ไม่ต้องคอยครู อาจารย์
ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลาที่ต้องการ
6. ทำให้ผู้เรียนสามารถสรุปหลักการ เนื้อหา
สาระของบทเรียนแต่ละบทเรียนได้
ประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่นำมาใช้ในปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ
นักวิชาการและนักการศึกษา
ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้จัดแบ่งประเภทตามลักษณะการใช้ดังนี้
1. คอมพิวเตอร์ใช้เพื่อการสอน (Tutoring) เป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้นในลักษณะของบทเรียนที่ลอกเลียนแบบ การสอนของครู
กล่าวคือ มีบทนำ มีคำบรรยาย ซึ่งประกอบด้วยทฤษฎี กฎเกณฑ์
แนวคิดที่สอนหลังจากที่นักเรียนได้ศึกษาแล้วก็มีคำถาม (Question) เพื่อใช้ในการตรวจสอบความเข้าใจของ นักเรียน มีการป้อนกลับ
ตลอดจนมีการเสริมแรงและสามารถให้นักเรียนย้อนกลับไปเรียนบทเรียนเดิมได้
หรือข้ามบทเรียนที่ได้เรียนรู้
แล้วได้นอกจากนี้ยังสามารถบันทึกการเรียนของนักเรียนไว้ได้
เพื่อให้ครูนำข้อมูลการเรียนของแต่ละคนกลับไปแก้ไขนักเรียนบางคนได้
2. คอมพิวเตอร์ใช้เพื่อการฝึก (Drill and Practice) แบบฝึกส่วนใหญ่ใช้เพื่อเสริมทักษะเมื่อครูได้สอน บทเรียนบางอย่างไปแล้ว
จุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดกับคอมพิวเตอร์เพื่อวัดระดับ
หรือให้ฝึกจนถึงระดับที่ยอมรับได้ บทเรียนประเภทนี้ จึงประกอบด้วยคำถามและคำตอบ
การเตรียมคำถามต้องเตรียมไว้มากๆ ซึ่งผู้เรียนควรได้สุ่มขึ้นมาฝึกเองได้
สิ่งสำคัญของการฝึกคือต้องกระตุ้นให้นักเรียนอยากทำ
และตื่นเต้นกับการทำแบบฝึกหัดนั้น ซึ่งอาจมีภาพเคลื่อนไหว คำพูดโต้ตอบ มีการแข่งขัน
เช่น จับเวลา หรือสร้างรูปแบบที่ท้าทายความสามารถในการคิด และ
การแก้ปัญหา
3. คอมพิวเตอร์ใช้เพื่อสร้างสถานการณ์จำลอง (Simulation) โปรแกรมประเภทนี้เป็นโปรแกรมที่ใช้จำลองสถานการณ์ให้ใกล้เคียงกับสถานการณ์
ในชีวิตจริงของนักเรียนโดยมีเหตุการณ์สมมติต่างๆ อยู่ในโปรแกรม
และผู้เรียนสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง หรือจัดกระทำได้สามารถมีการโต้ตอบ และมีวัตแปร
หรือทางเลือกหลายๆ ทาง การสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้
เมื่อสถานการณ์จริงไม่สามารถทำได้ เช่น การเคลื่อนที่ของลูกปืน การ
เดินทางของแสงการหักเหของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
หรือการทำปฏิกิริยาทางเคมีที่อาจเกิดการระเบิดขึ้น หรือการเจริญเติบโตนี้ใช้เวลานาน
หลายวันการใช้คอมพิวเตอร์
สร้างสถานการณ์จำลองจึงมีความจำเป็นอย่างมาก
4. คอมพิวเตอร์ใช้เพื่อเป็นเกมในการเรียนการสอน
โปรแกรมประเภทนี้นับเป็นแบบพิเศษของแบบจำลองสถานการณ์ โดยมีการแข่งขันเป็นหลัก
ซึ่งสามารถเล่นได้คนเดียวหรือหลายคน ก่อให้เกิดการแข่งขันและร่วมมือกัน
ก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้มากโดยการเพิ่มคุณค่าทางการศึกษาจุดมุ่งหมาย เนื้อหา
และกระบวนการที่เหมาะสม
5. คอมพิวเตอร์ใช้เพื่อการทดสอบ (Testing) เป็นโปรแกรมที่ใช้รวมแบบทดสอบไว้และสุ่มข้อสอบตามจำนวนที่ต้องการ
โดยที่ข้อสอบเหล่านั้น
ผ่านการสร้างมาอย่างดีมีความเชื่อถือได้ในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
โปรแกรมมีการตรวจข้อสอบให้คะแนน วิเคราะห์
และประเมินผลให้ผู้สอบได้ทราบทันที
6. คอมพิวเตอร์ใช้เพื่อการไต่ถามข้อมูล (Inguiry) เป็นโปรแกรมที่ช่วยในการค้นหาข้อเท็จจริงหรือข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในตัว
คอมพิวเตอร์แบบนี้จะมีแหล่งเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์
ซึ่งสามารถแสดงได้ทันทีเมื่อผู้เรียน ต้องการ ด้วยระบบง่ายๆ
ที่ผู้เรียนสามารถทำได้เพียงแต่กดหมายเลข หรือใส่รหัส
ซึ่งทำให้คอมพิวเตอร์แสดงข้อมูลที่ต้องการไต่ถามได้ตามต้องการ
นอกจากนั้นยังนำคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมาใช้ในลักษณะอื่นๆ เช่น
การนำเสนอประกอบการสอน การใช้เพื่อฝึกแก้ปัญหาการสาธิต
เป็นต้น
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะ พ.ศ.2544-2553 ของประเทศไทย
ได้กำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษา
(e-Education) ดังนี้
เป้าหมาย
พัฒนาและเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ในทุกระดับของประเทศเพื่อรองรับการพัฒนาสู่การเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ส่งเสริม สนับสนุน
ให้ผู้เรียนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้จาก
แหล่งและวิธีการที่หลากหลาย โดยจัดให้มีการพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์
พัฒนาผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษา
พัฒนาหลักสูตรให้เอื้อต่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการเรียนการสอน
เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนทางไกล จัดให้มีศูนย์ข้อมูลสื่ออิเล็กทรอนิกส์
(Courseware
Center) ให้มีการเรียนการสอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
(e-Learning) จัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book)
จัดให้มีห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
(Lifelong Learning) นำไปสู่สังคมแห่งคุณธรรมและสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
ยุทธศาสตร์ที่ 2
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาการบริหารจัดการและให้บริการทางการศึกษา
พัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ ระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ
และพัฒนาบุคลากรทุกระดับที่เกี่ยวข้อง
โดยความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมและเอกชน
สร้างศูนย์ปฏิบัติการสารสนเทศ (Operation
Center) เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับชาติและระดับกระทรวง
รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
และให้บริการทางการศึกษา
ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สอดคล้องกับการปฏิรูประบบราชการ
ยุทธศาสตร์ที่ 3
การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ผลิตและพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดย
จัดให้มีการพัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศในทุกระดับกรศึกษา
พัฒนาผู้สอนและนักวิจัย ส่งเสริมการวิจัย และนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้
รวมทั้งประสานความร่วมมือกับองค์กรของรัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
ในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
เพื่อการพัฒนาการศึกษาและอุตสาหกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 4
การกระจายโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
จัดให้มีและกระจายโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างทั่วถึง
มุ่งเน้นการจัดหาและใช้ทรัพยากรทางด้านเครือข่ายร่วมกัน จัดหาระบบคอมพิวเตอร์
และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน
ชุมชน และท้องถิ่น เตรียมบุคลากรปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้เพียงพอ
รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่ม
และการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพในการใช้ปฏิบัติงาน
นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
จะเป็นสิ่งกำหนดแนวทางในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาต่อไป
สภาพแวดล้อมทางการศึกษา
บทบาทต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมากของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันเป็นยุคสังคมเทคโนโลยีสารสนเทศ
มีการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ (Chat)
การใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail) การสืบค้นข้อมูลตามเว็บไซต์ต่างๆ
สำหรับวงการธุรกิจก็เกิดระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) และธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในวงการศึกษาเกิดระบบมหาวิทยาลัยเสมือน (Virtual University) มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (e-University) ซึ่งจะมีการจัดการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning)
ซึ่งอาจเป็นการสอนแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ได้ การสอนแบบออนไลน์
จะสอนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ อินทราเน็ต
ผู้เรียนกับผู้สอนสามารถติดต่อสื่อสารผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ การสอนแบบออฟไลน์
เป็นการสื่อช่วยสอนประเภทวีดีโอ หรือ ซีดีรอม ที่รู้จักกันในชื่อ
คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer As Instruction : CAI) หรือ
คอมพิวเตอร์ช่วยในการฝึกอบรม (Computer Based Training : CBT) หรือที่เรียกใหม่ว่าบทเรียนโปรแกรม
(Courseware)
สื่ออิเล็กทรอนิกส์จะเป็นเครื่องมือช่วยในการเรียนการสอนก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
(Life
Long Learning) ผู้ที่สนใจสามารถเลือกที่จะศึกษาได้ตามความต้องการของตนเอง
เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ใช้เวลาไหนก็ได้สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา
หรืออยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนรู้ได้เพื่อให้งานด้านนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องจึงได้มีการจัดทำร่างแผนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
2020 ขึ้น
เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น
โดยต้องคำนึงถึงแนวทางการพัฒนาประเทศในภาพรวมดังที่ได้ระบุไว้ในแผนระดับประเทศต่างๆ
อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.
2550 -2554) แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา (พ.ศ.
2551 - 2555)
การศึกษาต้องตอบสนองความต้องการของสังคม
การเรียนการสอนไม่ได้จำกัดเฉพาะห้องเรียนตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ.2542กำหนดให้มีการจัดการศึกษา ในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย
ซึ่งเป็นตอบปัญหาจากสังคมที่คาดหวังจากการปฎิรูปการศึกษา
เนื่องจากสังคมได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
จากการที่ต้องการแรงงานไร้ฝีมือมาเป็นแรงงานที่มีทักษะที่สูงขึ้น
รวมถึงลักษณะการทำงานที่มีความยืดหยุ่น จากงานเสวนา เรื่อง “การพัฒนาศักยภาพกลุ่มคนทำงานที่บ้านด้วยสื่อ ICT” ภายใต้โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน
โดย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดการเสวนา
เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือ Home worker สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้าไปผสมผสานการ
ใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการพัฒนาอาชีพในด้านต่าง ๆ เช่น
การสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการทำงานของตน
การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับราคาของตัวผลิตภัณฑ์ และเพิ่มทักษะด้านต่างๆ
ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของงานใหม่ๆ ที่เกิดจากการพัฒนาของ
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีการกำหนดองค์ประกอบของการใช้
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการศึกษาในหลายประเทศแตกต่างกันไปแต่ก็มี
อยู่ภายใต้เงื่อนไขของหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับได้กำหนดองค์ประกอบการใช้
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการศึกษา เช่น UNESCO ได้กำหนดองค์ประกอบในการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
เพื่อการศึกษาไว้ 5 ด้านคือ 1) การกำหนดนโยบาย เพื่อสนับสนุนสภาพแวดล้อมของระบบและบูรณาการในการใช้
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการศึกษา 2) สร้างการใช้
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่เหมาะสมทั้งในรูปแบบและนอกระบบ 3) ศึกษาการสนับสนุนครูให้หาทางเลือกใหม่ในการเรียนการสอน 4) พัฒนาตัวชี้วัดเพื่อพิจารณาผลการใช้เทคโนโลยีในการศึกษา 5) ใช้ผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมกับความต้องการบริบทการศึกษา
ในส่วนของรูปแบบการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการเรียนการสอน เช่น
การเรียนการสอนทางไกล (Distance Education) เป็นการเรียนการสอนที่ประยุกต์เทคโนโลยีหลายๆอย่าง เช่น
ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การประชุมทางไกลชนิดภาพและเสียง
รวมถึงเอกสารต่างๆเพื่อเข้าถึงผู้เรียนที่อยู่ห่างไกล แบบมหาวิทยาลัยออนไลน์
เรียกว่า Online University หรือ Virtual University
โดยในประเทศไทยได้มีการจัดทำโครงการ Thailand cyber
University (TCU) ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
จะเป็นสรรพวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์รวมของสรรพวิทยาการ)
ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ครอบคลุมการศึกษาในทุกระบบ
ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non Formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (In-Formal Education) ที่ประชาชนทุกคน สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้ได้
มีระบบการเทียบโอนความรู้จากการศึกษาในแต่ละระบบ
เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการศึกษาจากระบบหนึ่ง สามารถจะเทียบโอนความรู้
เข้าสู่การศึกษาในอีกระบบหนึ่งได้ ตามเงื่อนไขและข้อกำหนด ซึ่งจะเป็นการบูรณาการ
การศึกษาทุกระบบเข้าด้วยกัน
เกิดเป็นระบบการศึกษาที่รองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน มีความยืดหยุ่น
ต่อเนื่อง และเสริมกัน มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับตามหลักมาตรฐาน มีหลักสูตร ออนไลน์(online) ที่ผู้เรียนสามารถเรียนจนจบได้รับปริญญาบัตร
เป็นระบบการเรียนการสอนที่อยู่บนเครือข่าย ในรูปเว็บเพจ มีการสร้างกระดานถาม-ตอบ
อิเล็กทรอนิกส์ (Web Board) การเรียนการสอนผ่านทางอินเทอร์เน็ตและเว็บเพจ (Online Learning,
Internet Web Base Education) เป็นการนำเสนอเนื้อหาและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนโดยเน้นสื่อประสมหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน
มีการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ประสานงานกัน
ให้ผู้เรียนและผู้สอนเข้าถึงฐานข้อมูลหลายชนิดได้
โดยผู้เรียนต้องควบคุมจังหวะการเรียนรู้ด้วยตนเองให้เป็น และเลือกเวลา
สถานที่ในการเรียนรู้ สร้างความหลากหลายในการเรียนรู้ของผู้เรียน จากสถิติของ
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (ตั้งแต่เปิดให้บริการ เมื่อ 12 ม.ค.
2548 ถึงเดือนกันยายน 2551) มีจำนวนสมาชิกที่ลงทะเบียน51,718 คนโดยแบ่งเป็น
นักเรียน 49,012 คน อาจารย์ 2,706 คน
มีจำนวนบทเรียน 470 บทเรียน ใน 16
หลักสูตร มีการลงทะเบียนเพื่อเข้าเรียน 82,331 บทเรียน
มีมหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการ 3 แห่ง
จำนวนครั้งที่มีผู้เข้าใช้บริการในบทเรียน 1,086,750
ครั้ง
จะเห็นได้ว่าจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 9
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในหลายฉบับที่ผ่านมาตั้งแต่
ปี 2000 เป็นต้นมา มีการประยุกต์ใช้
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในด้านต่างๆ รวมถึงการใช้
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้ในการจัดการศึกษานั้น
จะส่งผลในขั้นสุดท้ายคือการพัฒนาประเทศให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงพัฒนาของโลก
ก้าวสู่ยุคของสังคมที่ใช้ความรู้เป็นฐานต่อไป
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวัน
1ระบบปลุกอัตโนมัติ
โดยที่คอมพิวเตอร์ถูกหลอมรวมเข้ากับที่พักอาศัย ที่ทำงาน
และสภาพแวดล้อมภายนอก คอมพิวเตอร์จะ โปรแกรมให้เตือนหรือช่วยทำงานในบางกิจกรรม เช่น
คอมพิวเตอร์จะปลุกให้ตื่นจากที่นอน เมื่อมีโปรแกรมโปรดของเจ้าของระบบ
หรือคอยเตือนเมื่อโปรแกรมดังกล่าวมาถึง
นอกจากนี้เจ้าของระบบคอมพิวเตอร์ยังสามารถเลือกดูหรือเลือกกิจกรรมที่จะกระทำในแต่ละวัน
ตั้งแต่ ตื่นนอน ทำงาน รายการอาหารตลอดจนเข้านอน
เมื่อถึงเวลาระบบคอมพิวเตอร์จะทำการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น เช่น
รายการอาหารที่เลือกในแต่ละวัน จะมีการตรวจสอบถึงเครื่องปรุงต่าง ๆ
ที่มีอยู่ในตู้เย็นหรือตู้กับข้าวในห้องครัว
เมื่อต้องการเครื่องปรุงชนิดใดจะมีรายงานเข้ามาที่เจ้าของระบบหรือจะรายงานการสั่งซื้อไปที่ร้านซูปเปอร์มาเก็ตที่ใกล้บ้านระบบจัดส่งอัตโนมัติมีการโอนเงินจ่ายเงินสำหรับของที่ซื้อโดยคอมพิวเตอร์
2โฮมออฟฟิส
เนื่องจากราคาคอมพิวเตอร์ถูกลง
มีการนำคอมพิวเตอร์มาติดตั้ง
ทำงานร่วมกับบ้านบ้านสมัยใหม่หรือที่เรียกว่าบ้านอัจฉริยะจึงถูกออกแบบ
และควบคุมโดยคอมพิวเตอร์
อุณหภูมิภายในบ้านจะได้รับการปรับให้คงที่อยู่เสมอม่านจะปรับตามเวลาทิศทางการเข้าของแสงสว่างซึ่งสอดคล้องกับแสงไฟในบ้านและอุณหภูมิ
ระบบคอมพิวเตอร์ภายในบ้านจะติดต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ที่สำนักงาน
ผู้ใช้สามารถทำงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์ในบ้านแล้วส่งงานที่ทำเสร็จผ่านทางระบบเครือข่าย
การติดต่อผ่านระบบสื่อสาร
ทำให้สามารถทำงานที่บ้านแล้วส่งงานที่ทำผ่านระบบคอมพิวเตอร์เครือข่าย
การประยุกต์ใช้งาน
มีการนำเอามัลติมีเดียไปประยุกต์ใช้งานในหลายๆ ด้าน เช่น
ด้านการศึกษา
- ด้านการศึกษานั้นได้นำเอามัลติมีเดียไปพัฒนาใช้และขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ทำให้เกิดเครื่องมือช่วยสอนต่างๆ มากมาย
และเกิดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ช่วยสอนในรูปแบบต่างๆ
- สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา โดยเป็นเครื่องมือช่วยรวบรวม
วิเคราะห์ ออกแบบ สร้าง จัดการ
ใช้งานและประเมินผล
- คอมพิวเตอร์ช่วยสอน
ลักษณะมัลติมีเดีย
- เผยแพร่การเรียนบนเว็บ เช่น e-Learning เป็นต้น
- เกิดการเรียนรู้ทางไกล
ด้านการฝึกอบรม
- มีการใช้คอมพิวเตอร์ในการช่วยสอน เรียกว่า e-Training
มีส่วนช่วยให้พัฒนาศักยภาพทางบุคลากรเป็นอย่างมาก
- ปัจจุบัน มีการพัฒนาเว็บสำหรับอบรมของสถาบันฝึกอบรมหลายแห่ง เช่น
สถาบันพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
http://www.guruonline.in.th
ด้านความบันเทิง
- มัลติมีเดียได้รับความแพร่หลายในวงการบันเทิงเป็นอย่างมาก
เช่น
ภาพยนต์ คาราโอเกะ เกมส์ ข่าว ละคร เป็นต้น
- เว็บไซต์ทีวี
- เกมส์ออนไลน์
ด้านธุรกิจ มีความสะดวกเป็นอย่างมาก ในการ
- นำเสนองาน นำเสนอสินค้า
- ประชุมทางไกล
ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้านการประชาสัมพันธ์ มัลติมีเดียได้เป็นปัจจัยหลักสำคัญ
ในการ
- นำเสนอ และเผยแพร่ข่าวสาร
- การโฆษณาและการถ่ายทอด
- ตู้ประชาสัมพันธ์
ด้านความเป็นจริงเสมือน
- ความจริงเสมือนเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของวงการเทคโนโลยีมัลติมีเดีย
สามารถเลียนแบบการเรียนรู้ และสัมผัสผ่านอุปกรณ์ต่างๆ
ในโลกแห่งความเป็นจริงเสมือน
ด้านโมบายเทคโนโลยี ได้ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เช่น
- เทคโนโลยีมัลติมีเดียในโทรศัพท์เคลื่อนที่
รูปแบบการใช้โมบายเทคโนโลยี M-Billing M-Commerce M-Banking
M-Entertainment M-Messaging
กระบวนการเรียนการสอน
กระบวนการเรียนการสอนมีขั้นตอนสำคัญๆ 3 ขั้นตอนคือ
1.การเรียน - การสอน
การเรียนทางไกลอาศัยครูและอุปกรณ์การสอนสามารถใช้สอนนักเรียนได้มากกว่า 1 ห้องเรียน
และได้หลายสถานที่ ซึ่งจะเหมาะกับวิชาที่นักเรียนหลายๆ แห่งต้องเรียนเหมือนๆ กัน
เช่น วิชาพื้นฐาน
ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องจ้างครูและซื้ออุปกรณ์สำหรับการสอนในวิชาเดียวกันของแต่ละแห่ง
การสอนนักเรียนจำนวนมากๆ ในหลายสถานที่ครูสามารถเลือกให้นักเรียนถามคำถามได้
เนื่องจากมีอุปกรณ์ช่วยในการโต้ตอบ เช่น ไมโครโฟน กล้องวิดีทัศน์ และ
จอภาพเป็นต้น
2. การถาม - ตอบ
ขั้นตอนที่สำคัญอย่างหนึ่ง
คือการใช้คำถามเพื่อให้เกิดการโต้ตอบหรือมีปฏิสัมพันธ์ สื่อที่ใช้อาจเป็นโทรศัพท์
หรือกล้องวิดีทัศน์ในระบบการสอนทางไกลแบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ หรือโทรสาร
หรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการถามตอบภายหลัง
3. การประเมินผล
รูปแบบการประเมินผลการเรียนการสอนทางไกลนั้นผู้เรียนสามารถส่งการบ้าน
และทำแบบทดสอบโดยใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์
หรืออาจเป็นรูปแบบการประเมินผลในห้องเรียนปกติ (ในห้องสอบที่จัดไว้)
เพื่อผสมผสานกันไปกับการเรียนทางไกล
ดังนั้นการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการสอนทางไกลจะประสบผลมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าผู้นำมาใช้เข้าใจแนวคิดหลักการตลอดจนมีการวางแผนและเตรียมการไว้เป็นอย่างดี
โดยคำนึงถึงการสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนให้มากจะทำให้การเรียนการสอนน่าสนใจยิ่งขึ้น
การใช้สื่อและอุปกรณ์การสื่อสารอย่างหลากหลายทำให้เกิดสภาวะยึดหยุ่นของการจัด
ซึ่งหมาะสมกับสภาวะการณ์ในปัจจุบันโดยทั้งหมดทำให้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญคือความสามารถในการกระจายโอกาสทางการศึกษา
และยกระดับคุณภาพของการศึกษา
จึงกลายเป็นทางลัดที่เอื้อต่อการเรียนหลายประเภทและไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา
วิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์
วิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ หมายถึง
การประชุมทางจอภาพโดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างบุคคลหรือคณะบุคคลที่อยู่ต่างสถานที่และห่างไกลคนละซีกโลก
ด้วยสื่อทางด้านมัลติมีเดียที่ให้ทั้งภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง เสียง
และข้อมูลตัวอักษรในการประชุมเวลาเดียวกัน และเป็นการสื่อสาร 2 ทาง จึงทำให้
ดูเหมือนว่าได้เข้าร่วมประชุมร่วมกันตามปกติ
ด้านการศึกษาวิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์
ทำให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ผ่านทางจอภาพ โทรทัศน์และเสียง
นักเรียนในห้องเรียนที่อยู่ห่างไกลสามารถเห็นภาพและเสียงของครู
สามารถเห็นอากับกิริยาของ ผู้สอน
เห็นการเคลื่อนไหวและสีหน้าของครูในขณะเรียน
คุณภาพของภาพและเสียงขึ้นอยู่กับความเร็วของช่องทางการสื่อสารที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างสองฝั่งที่มีการประชุมกัน
ได้แก่ จอโทรทัศน์ หรือจอคอมพิวเตอร์ ลำโพง ไมโครโฟน กล้อง
อุปกรณ์เข้ารหัสและถอดรหัสผ่านเครือข่ายการสื่อสารความเร็วสูงแบบไอเอสดีเอ็น
(ISDN)
องค์ประกอบพื้นฐานของวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
องค์ประกอบพื้นฐานของวิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ ประกอบด้วย 2 ส่วน
คือ
1. เครือข่ายโทรคมนาคม
มีหน้าที่เชื่อมสัญญาณจากผู้ร่วมประชุมแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกันเพื่อการประชุม
2. อุปกรณ์เชื่อมต่อ (Terminal)
เป็นอุปกรณ์ด้านทางและปลายทาง
ทำหน้าที่รับและถ่ายทอดภาพและเสียงได้แก่ จอโทรทัศน์ เครื่องฉ่ายภาพนิ่ง
กล้องวิดีทัศน์ ไมโครโฟน เป็นต้น
ภาพแสดงอุปกรณ์เชื่อมต่อ (Terminal)
ของระบบเทเลคอนเฟอ
อุปกรณ์เชื่อมต่อ
อุปกรณ์เชื่อมต่อที่สำคัญของระบบวิดีโอเทเลเฟอเรนซ์
ประกอบด้วย
1. กล้องโทรทัศน์ เป็นกล้องโทรทัศน์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ
มีระบบเซอร์โวเพื่อควบคุมในระยะไกลให้กล้องสามารถปรับมุมเงย มุมก้ม
กวาดทางซ้ายหรือทางขวา ซูมภาพ เป็นต้น
กล้องโทรทัศน์ที่ใช้จะสามารถควบคุมได้จากที่หนีงไปยังอีกที่หนึ่งในระยะไกลได้
2. จอภาพโทรทัศน์ หรือจอมอนิเตอร์ เป็นจอภาพที่สามารถใช้ได้ทั้งกับระบบ
PAL
หรือ NTSC ภาพที่ปรากฏมีระบบรวมสัญญาณเพื่อแบ่งจอภาพออกเป็นจอเล็กๆ
เพื่อดูปลายทางของแต่ละด้าน
หรือดูภาพของตนเองระบบจอภาพอาจขยายเป็นจอใหญ่ขนาดหลายร้อยนิ้วได้ เช่น
การใช้เครื่องฉายภาพโทรทัศน์แทนจอภาพโทรทัศน์
เป็นต้น
3. เครื่องขยายเสียง มิกเซอร์ และไมโครโฟน
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขยายเสียงทั้งที่ต้นทางและปลายทาง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ร่วมประชุม
หรือผู้เรียนในห้องทางไกลและด้านทางได้ยินเสียงชัดเจน
สำหรับมิกเซอร์ใช้เพื่อรวมสัญญาณเสียงจากเครื่องเล่นวิดีทัศน์
จากคอมพิวเตอร์และจากไมโครโฟน
4. คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวิดีทัศน์ และกล้องเอกสาร
เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สื่อต่างๆ
ประกอบการประชุมหรือสอนทางไกล เช่น การใช้ Power
Point นำเสนอ ข้อความ ภาพ
หรือใช้กล้องเอกสารเพื่อส่งข้อความในรูปเอกสาร หรือนำเสนอข้อมูลในหนังสือหรือตำรา
ส่วนเครื่องเล่นวิดีทัศน์ใช้เพื่อนำรายการวิดีทัศน์ไปให้ผู้ชมที่อยู่ต้นทาง
และปลายทางเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้สื่อมากยิ่งขึ้น
5. แป้นควบคุม เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับควบคุมระบบ เช่น
ควบคุมการปรับมุมกล้องที่ปลายทาง หรือที่ ต้นทาง
การเลือกช่องสัญญาณการปรับระดับเสียง การปิดเสียง การปรับภาพและสลับภาพ
การปรับมุมกล้องและขนาดของภาพที่ถ่ายด้วยกล้องโทรทัศน์
รวมถึงการใช้โทรเพื่อเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างกัน เป็นต้น
6. อุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ได้แก่ ลำโพง เครื่องโทรสาร เครื่องโทรทัศน์
ทั้งที่ต้นทางและปลายทาง เพื่อการ สื่อสารด้วยช่องทางอื่น ๆ เพิ่มขึ้น
7. อุปกรณ์เข้ารหัสและถอดรหัส (Codec)
ในการใช้ระบบวิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์
มีความจำเป็นที่ต้องใช้ตัวเข้ารหัสและถอดรหัสจำนวน 2 ชุด
เพื่อแปลงสัญญาณแบบอะนาล็อกเป็นสัญญาณดิจิตอล
และถอดรหัสกลับมาเป็นสัญญาณอะนาล็อกเพื่อออกทางจอภาพโทรทัศน์และเครื่องขยายเสียง
เพื่อให้ได้การสื่อสารที่เหมือนกับต้นทางมากที่สุด
ระบบวิดีโอออนดีมานด์
วิดีโอออนดีมานด์ (Video
on Demand) เป็นระบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมนำมาใช้
ในหลายประเทศเช่น
ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาโดยอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ควมเร็วสูงทำให้ผู้ชมตามบ้านเรือนต่างๆ
สามารถเลือกรายการวีดิทัศน์ที่ตนเองต้องการชมได้โดยเลือกตามรายการ (Menu)
และเลือกชมได้ตลอดเวลา
วิดีโอออนดีมานด์เป็นระบบที่มีศูนย์กลางการเก็บข้อมูลวีดิทัศน์ไว้จำนวนมาก
โดยจัดเก็บในรูปแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ (Video
Server) เมื่อผู้ใช้ต้องการเลือกชมรายการใดก็เลือกได้จากฐานข้อมูลที่ต้องการ
ระบบวิดีโอ
ออนดีมานด์จึงเป็นระบบที่จะนำมาใช้ในเรื่องการเรียนการสอนทางไกลได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา
ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองต้องการเรียนหรือสนใจได้
ภาพแสดงการเชื่อมต่อระบบวิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์
องค์ประกอบของระบบวีดีโอออนดีมานด์ ได้แก่ วีดีโอเซอร์ฟเวอร์
[Video
Server (s)] เครื่องข่ายการสื่อสารแบบเอทีเอม (ATM) และวิดีโอ ไครแอนท์ (Video Client)
วิดีโอเซอร์ฟเวอร์
เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงมีที่เก็บข้อมูลที่มีความจุสูงมากและมีความเร็วในการอ่านข้อมูลสูง
เพื่อที่จะเก็บข้อมูลวิดีโอ
สนองต่อความต้องการโดยผ่านทางเครือข่ายเอทีเอ็มของผู้ใช้ ภายใน
เซอร์ฟเวอร์ยังเป็นที่บรรจุเอ็นโค้ดเดอร์รีลไทม์
เพื่อสำหรับการแอ็กเซสไปสู่รายการต่างๆ โดยปกติแล้วข้อมูลวิดีโอ
มีขนาดใหญ่และต้องการส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง
เมื่อใช้เทคโนโลยีบีบอัดข้อมูลแบบเอ็มเพ็ก (Mpeg)
จึงทำให้การส่งข้อมูลได้เร็วขึ้นและข้อมูลภาพยนต์ไม่ใหญ่มากเกินไป
ขนาดของข้อมูลเป็นตัวกำหนดคุณภาพ เช่น ส่งข้อมูลขนาด 1-5 เม็กกะบิตต่อวินาที
ใช้มาตรฐาน MPEG-1 สำหรับคุณภาพระดับวีดิทัศน์ระบบวีเฮชเอส
(VHS) และ 6-8 เม็กกะบิตต่อวินาที (6-8 Mbps) สำหรับคุณภาพ MPEG-2 หรือระดับ ดีวีดี (DVD)
เครื่องวิดีโอเซอร์เวอร์ต้องมี
ประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับและแจกจ่ายข้อมูลวิดีโอเหล่านั้นไปยังผู้ใช้บริการ
เครื่องขายการสื่อสารแบบเอทีเอม (ATM:Asynchronous
Transfer Mode) เป็นสถาปัตยกรรมที่มีการส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง
โดยข้อมูลรายการต่างๆ จะสร้างขึ้นมาในวิดีโอเซอร์ฟเวอร์แล้วแปลงให้เป็น เอทีเอ็ม
โหมดจากนั้นก็จะส่งข้อมูลผ่านแอ็กเซสเน็ตเวอร์กโดยอาศัยเอทีเอ็มเซลล์
ไปยังผู้ใช้บริการ
วิดีโอ ไครแอนท์ (Video
Client) เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทีสามารถแปลงข้อมูล
ที่ได้รับจากวิดีโอเซอร์ฟเวอร์ให้เป็นสัญญาณและแสดงผลขึ้นบนจอคอมพิวเตอร์หรือจอโทรทัศน์ได้แสดงอุปกรณ์ส่วนผู้ใช้ปลายทาง
(End-user equipment)
การให้บริการของระบบวีดิโอออนดีมานด์
ระบบวิดีโอออนดีมานด์ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ ดังนี้
1. ความสามารถในการให้บริการวีดิทัศน์ในลักษณะหนึ่งต่อหนึ่ง (one
to one) ไม่ใช้ลักษณะออกอากาศแบบกระจายสัญญาณ
(Broadcast)
2.
ผู้ใช้สามารถควบคุมการเล่นภาพได้ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องเล่นวิดีโอตามบ้านทั่วไป
กล่าวคือ ผู้ใช้ต้องสามารถเล่นภาพ หยุดภาพ กรอกลับ
หรือกรอไปข้างหน้าได้ตามต้องการ
3. มีความเร็วในการส่งข้อมูล ภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงได้อย่างน้อย 1.5
เมกะบิตต่อวินาที (Mbps)
สำหรับคุณภาพระดับวีดิทัศน์ระบบวีเฮชเอส (VHS) และอย่างน้อย 6-8 เมกะบิตต่อวินาที สำหรับคุณภาพระดับเลเซอร์ดิสก์
หรือดีวีดี (DVD)
4. มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีเพียงพอ เนื่องจากมีข้อมูลที่สำคัญ
หรือต้องการเสถียรภาพของระบบบริการที่ดี
หมายถึงไม่เกิดความเสียหายกับข้อมูลภาพและเสียง
การใช้งานวิดีโอออนดีมานด์
จะให้ความสะดวกต่อผู้ใช้มากกว่าระบบวิดีโอทั่วๆ ไป ซึ่งส่งสัญญาณออกมาชุดเดียว
(1
stream) สำหรับผู้ใช้ทุกคนแต่ละคนได้ดูภาพสัญญาณเดียวกัน รายการต่างๆ
จะมีเวลาตายตัวตามที่กำหนดไว้
ผู้ใช้ต้องรอเวลาเพื่อที่จะได้ดูรายการที่ต้องการส่วนวิดีโอออนดีมานด์
ผู้ใช้แต่ละคนสามารถเลือกดูรายการที่ตนเองสนใจเวลาใดก็ได้ไม่ขึ้นกับผู้อื่น
และไม่ต้องการรอตารางเวลา แต่ก็ต้องใช้ความเร็วของเครือข่ายสื่อสารมาก
เนื่องจากต้องส่งสัญญาณวิดีโอแยกสำหรับผู้ใช้แต่ละคน (1 stream ต่อ 1 คน) ดังนั้นเครือข่ายสื่อสารจึงต้องมีความเร็วสูงมาก
สามารถนำระบบวิดีโอออนดีมานด์มาใช้เพื่อการศึกษาได้เป็นอย่างดี เช่น
นำมาใช้เพื่อการเรียนการสอนทางไกล (Distance Learning) โดยนักเรียนสามารถลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง
และเมื่อต้องการเรียนโดยเลือกบทเรียนจากวีดิทัศน์ที่เก็บอยู่ในวิดีโอเซอร์ฟเวอร์
ทำให้นักเรียนสามารถเรียนและทบทวนบทเรียนได้ทุกเวลาตามความต้องการด้วยตนเอง
ไฮเปอร์เท็กซ์
ปัจจุบันได้มีการกล่าวถึงระบบไฮเปอร์เท็กซ์กันมากแม้แต่ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตก็มีการประยุกต์ใช้ไฮเปอร์เท็กซ์จนมีโปรโตคอลพิเศษที่ใช้กัน
คือ World
Wide Web หรือเรียกว่า www. โดยผู้ใช้สามารถเรียกใช้โปรโตคอล http เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบไฮเปอร์เท็กซ์
ซึ่งเป็นฐานข้อมูลในอินเตอร์เน็ต
ไฮเปอร์เท็กซ์ในปัจจุบันเป็นแบบมัลติมีเดียเพราะสามารถสร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่
ที่เก็บได้ทั้งภาพ เสียง และตัวอักษร
มีระบบการเรียกค้นที่มีประสิทธิภาพโดยใช้โครงสร้างดัชนีแบบลำดับชั้นภูมิ
โดยทั่วไปไฮเปอร์เท็กซ์จะเป็นฐานข้อมูลที่มีดัชนีสืบค้นแบบเดินหน้า ถอยหลัง
และบันทึกร่องรอยของการสืบค้นไว้
โปรแกรมที่ใช้ในการสร้างไฮเปอร์เท็กซ์มีเป็นจำนวนมากส่วนโปรแกรมที่มีชื่อเสียงได้แก่
HTML
, Compossor , FrontPage , Marcromedia DreaWeaver เป็นต้น
ส่วนประกอบของไฮเปอร์เท็กซ์
ไฮเปอร์เท็กซ์มีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่
1.พอยน์ (Point)
2. โนต (Node)
3. ลิงค์ (Link)
พอยน์ หมายถึง คำวลี
หรือประโยคที่ใช้เป็นจุดเชื่อมโยงไปยังข้อมูล ขยายความหมาย บางครั้งอาจ
เรียกว่าสมอเชื่อมโยงเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงไปสู่ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น
ขยายความมากขึ้น หรือมีรายละเอียดเพิ่มขึ้น
โนด หมายถึง กลุ่มของข้อมูลที่เป็นชุดเดียวกัน
และสัมพันธ์กัน หรือเป็นเรื่องเดียวกัน
ขนาดของข้อมูลในกลุ่มอาจมีปริมาณมากหรือน้อยก็ได้
รูปแสดงความสัมพันธ์ระหว่างพอยน์และโนด
ลิงค์ หมายถึง การเชื่อมโยง
ซึ่งมีตัวชี้และตัวเชื่อมโยงข้อมูล
เป็นสิ่งกำหนดการเชื่อมโยงไฮเปอร์เท็กซ์เข้าด้วยกัน
ลิงค์จะเป็นตัวบอกให้โปรแกรมนำโนดมาเสนอแก่ผู้อ่าน หรือเชื่อมโยงไปยังโนดอื่นๆ
ตัวชี้ในที่นี้อาจเป็นเคอร์เซอร์รูปนิ้วมือและการคลิกเมาส์
ซึ่งจะเป็นตัวนำไปสู่ข้อมูลส่วนขยายความต้องการ
นอกจากนี้ลิงค์ยังแบ่งออกได้เป็นแบบหนึ่งจุดต่อหลายจุด
(One
to Many) หรือแบบหลายจุดต่อหนึ่งจุด (Many to One) หลักการของการเชื่อมโยงที่สำคัญจะต้องมีตัวชี้ (Index) หรือจุดอ้างอิง (Reference) เป็นหลักเพื่อเชื่อมโยงไปยังข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ประโยชน์ของไฮเปอร์เท็กซ์ที่ใช้ทางการศึกษา
ไฮเปอร์เท็กซ์มีข้อได้เปรียบกว่าการใช้เอกสาร
หรือสิ่งพิมพ์อยู่หลายด้าน ได้แก่
1. รูปแบบการนำเสนอและการสืบค้นน่าสนใจ ชวนติดตาม
2. การนำเสนอ สามารถนำเสนอได้ทั้งวีดิทัศน์ กราฟิก ภาพเคลื่อนไหว และเสียง
เป็นต้น
3. สามารถเชื่อมโยงไปยังเอกสารอื่นๆ ภายนอกได้
4.
ผู้ใช้สามารถสืบท่องไปยังเนื้อหาที่สนใจและต้องการได้ด้วยตนเอง
5. มีความเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
กล่าวคือสามารถเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงเนื้อหาได้ง่าย
6. ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดได้อย่างรวดเร็ว
7. สามารถใช้ร่วมกับโปรแกรมประยุกต์อื่นๆ เพื่อการนำเสนอได้ง่าย
ทำให้เกิดกิจกรรมการใช้งานหลาก หลายขึ้น
8. สามารถประยุกต์ใช้กับบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
หรือบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยฝึกอบรมได้
9.
เกิดความคงทนในการเรียนรู้มากกว่าการใช้เอกสารที่อยู่ในรูปสิ่งพิมพ์
10. ส่งเสริมการเรียนรู้รายบุคคลได้เป็นอย่างดี
อินเตอร์เน็ต
อินเตอร์เน็ต (Internet)
เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีรากฐานความเป็นมาโดยการสนับสนุนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาที่มีความประสงค์เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ
จึงสนับสนันทุนวิจัยให้มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาทำการวิจัยเชื่อมโยงเครือข่ายขึ้น
และให้ชื่อว่า APRANET ต่อมาเครือข่ายนี้ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วมีคนนิยมใช้กันมากยิ่งขึ้นจึงใช้ชื่อเครือข่ายใหม่ว่าอินเตอร์เน็ต
เครือข่ายอินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยและขยายตัวรวดเร็วออกไปสู่หน่วยงานต่างๆ
ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนในหลายประเทศ
ประเทศไทยได้เชื่อมโยงเครือข่ายนี้โดยมีมหาวิทยาลัยกว่า 24 แห่ง
ต่อผ่านช่องทางสื่อสารเข้าสู่อินเตอร์เน็ต
อินเตอร์เน็ตมีประโยชน์ต่อการศึกษามากทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ
ตื่นตัวต่อการใช้ ทั้งนี้เพราะว่าในระบบเครือข่ายมีข้อมูลข่าวสารที่ต้องการมากมาย
จึงมีอัตราการขยายตัวของผู้ใช้สูงและครอบคลุมทุกแห่งทั่วโลก
จึงทำให้อินเตอร์เน็ตมีบทบาทต่อการศึกษาดังนี้
1. การใช้เป็นระบบสื่อสารส่วนบุคคล
บนอินเตอร์เน็ตมีอิเล็กทรอนิกส์เมล์หรือเรียกย่อๆ ว่า อีเมล์ (E-mail)
เป็นระบบที่ทำให้การสื่อสารระหว่างกันเกิดขึ้นได้ง่าย
แต่ละบุคคลจะมีตู้จดหมายเป็นของตัวเองสามารถส่งข้อความถึงกันผ่านในระบบนี้
โดยส่งไปยังตู้จดหมายของกันและกันนอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใปใช้ทางการศึกษาได้
เช่นการแจ้งผลสอบผ่านทางอีเมล์ การส่งการบ้าน การโต้ตอบบทเรียนต่างๆ
ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา
2.
ระบบข่าวสารบนอินเตอร์เน็ตมีลักษณะเหมือนกระดานข่าวที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก
ทุกคนสามารถเปิดกระดานข่าวที่ตนเองสนใจ
หรือสามารถส่งข่าวสารผ่านกลุ่มข่าวบนกระดานนี้เพื่อโต้ตอบข่าวสารกันได้ เช่น
กลุ่มสนใจงานเกษตรก็สามารถมีกระดานข่าวของตนเองไว้สำหรับอภิปรายปัญหากันได้
3. การใช้เพื่อสืบค้นข้อมูลข่าวสารต่างๆ
บนอินเตอร์เน็ตมีแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกัน
และติดต่อกับห้องสมุดทั่วโลกทำให้การค้นหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ
ทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพหมายถึงสามารถค้นหาและได้มาซึ่งข้อมูลโดยใช้เวลาอันสั้น
โดยเฉพาะบนอินเตอร์เน็ตจะมีคำหลัก (Index)
ไว้ให้สำหรับการสืบค้นที่รวดเร็ว
4. ฐานข้อมูลเครือข่ายใยแมงมุม (World
Wide Wed) เป็นฐานข้อมูลแบบเอกสาร (Hypertext) และแบบมีรูปภาพ (Hypermedia) จนมาปัจจุบัน
ฐานข้อมูลเหล่านี้ได้พัฒนาขึ้นจนเป็นแบบมัลติมีเดีย (Multimedia) ซึ่งมีทั้งข้อความ รูปภาพ วีดิทัศน์ และเสียง
ผู้ใช้เครือข่ายนี้สามารถสืบค้นกันได้จากที่ต่างๆ
ทั่วโลก
5. การพูดคุยแบบโต้ตอบหรือคุยเป็นกลุ่ม
บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสามารถเชื่อมต่อกันและพูดคุยกันได้ด้วยเวลาจริง
ผู้พูดสามารถพิมพ์ข้อความโต้ตอบกันได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนเครือข่าย เช่น
ฝ่ายหนึ่งอาจอยู่ต่างประเทศอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ในที่ห่างไกลก็พูดคุยกันได้และยังสามารถพูดคุยกันเป็นกลุ่มได้
6. การส่งถ่ายข้อมูลระหว่างกันแบบ FTP
(Files Transfer Protocol) คือสามารถที่จะโอนย้ายถ่ายเทข้อมูลระหว่างกันเป็นจำนวนมากๆ ได้
โดยส่งผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำให้สะดวกต่อการรับ-ส่งข้อมูลข่าวสาร
ซึ่งกันและกันโดยไม่ต้องเดินทางและข่าวสารถึงผู้รับได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
7. การใช้ทรัพยากรที่ห่างไกลกัน
ผู้เรียนอาจเรียนอยู่ที่บ้านและเรียกใช้ข้อมูลที่เป็นทรัพยากรการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยได้
และยังสามารถขอใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ในต่างมาวิทยาลัยได้ เช่น
มหาวิทยาลัยหนึ่งมีเครื่องคอมพิวเตอร์แบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์และผู้อยู่อีกมหาวิทยลัยหนึ่งก็ขอใช้ได้
ทำให้มีการใช้ทรัพยากรที่เป็นซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ได้อย่างมีประโยชน์และคุ้มค่าอย่างยิ่ง
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าประโยชน์ของเครือข่ายอินเตอร์เน็ตต่อการศึกษายังมีอีกมาก
มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง
จึงเร่งที่จะมีโครงการสร้างเครือข่ายความเร็วสูงขึ้นในมหาวิทยาลัยเพื่อให้ทรัพยากรภายในและผู้ใช้เชื่อมโยงถึงกันได้
นอกจากนั้นยังสามารถต่อเชื่อมเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตได้
ประเด็นปัญหาและอุปสรรคต่อมาตรฐานการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
ประเด็นแรก เกี่ยวกับ Hardware
สถานศึกษาหลายแห่งโดยเฉพาะที่อยู่ชนบทห่างไกล หรือเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก
มีจำนวนเครื่องไม่เพียงพอ ขาดงบประมาณสนับสนุน
เครื่องที่ได้จากการบริจาคบางที่เป็นเครื่องที่ล้าสมัย ความเร็วต่ำ
จำนวนเครื่องต่อคนใช้ในอัตราสูง ( สถานศึกษาร้อยละ 55 ใช้คอมพิวเตอร์ 1
เครื่องต่อนักเรียน 20 คน ร้อยละ 25 ใช้คอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อนักเรียน 21-40 คน
ส่วนที่เหลือมีสัดส่วนนักเรียนมากกว่า 40 คนต่อ 1 เครื่อง : ข่าวสด หน้า 28 -
วันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6306 )
ประเด็นที่สอง เกี่ยวกับ Software
เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีด้านโปรแกรม เป็นไปอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นในการพัฒนาโปรแกรมใช้งานของโรงเรียนให้ทันสมัยอยู่เสมอก็เป็นเรื่องลำบาก
ติดปัญหาตรงที่สภาพเครื่องไม่รองรับโปรแกรมบ้าง
ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจบ้าง
ประเด็นที่สาม คือด้านการบริหารจัดการ
โรงเรียนให้ความสำคัญกับการมีเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง
ๆในโรงเรียน (เพราะมีผลต่อการประเมินภายนอกของ สมศ. ในมาตรฐานที่ 5 และ 10 ด้วย)
แต่ยังประสบปัญหาด้านงบประมาณในการจัดหา ดูแลรักษา ระบบการวางแผนใช้งาน
และการติดตามประเมิน
ประเด็นที่สี่
คือด้านบุคลากรซึ่งถือว่าเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ เพราะเหล่านโยบาย มาตรฐานต่างๆ
ที่เขียนขึ้นมาต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากบุคลากร โดยเฉพาะครู
ปัญหาการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวกับบุคลากรซึ่งมักจะได้ยินได้ฟัง
หรือพบเห็นตามสื่อสิ่งพิมพ์ บนกระทู้ต่าง ๆ
จากอินเตอร์เน็ต เช่น
โรงเรียนขาดครูที่จบทางด้านนี้โดยตรง ครูไม่มีความรู้ด้านการใช้งาน ICT
ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะจัดงบประมาณส่งเสริมด้านนี้ในแต่ละปีมากพอสมควร
แต่พฤติกรรมหลังการอบรมแล้วครูไม่ได้ใช้ความรู้จากการอบรม หรือใช้ก็ส่วนน้อย
อาจจะติดขัดที่เรื่องประเด็นเวลา หรือภาระงานที่มากเกินไป
หรือบางครั้งเมื่อนำไปใช้แล้วประสบปัญหาเกิดความท้อถอย
ปัญหาด้านทัศนคติของครูต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
อาจจะเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเรื่องยุ่งยาก
ซึ่งอาจจะมาจากเรื่องของภาษาในโปรแกรม โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ การใช้เครื่องมือต่าง ๆ
ในโปรแกรมซับซ้อนเข้าใจยาก
ปัญหาด้านพฤติกรรมการใช้งาน ที่พบบ่อย ๆ คือ
การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องพิมพ์ดีดราคาแพง
นักเรียนใช้เครื่องเพื่อการบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง
เล่นเกมส์
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มีมากกว่าการใช้เพื่อการเสาะแสวงหาความรู้จากเทคโนโลยีสารสนเทศ
ปัญหาเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของการดำเนินงานตามนโยบายและมาตรฐานการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา
ที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องการเห็นการนำมาใช้อย่างจริงจังเพื่อการพัฒนาการศึกษาของชาติก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่
คำตอบที่สำคัญจึงอยู่ที่ตัวครู ทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการ
เพราะครูคือพลังขับเคลื่อนการศึกษาที่สำคัญ
หากครูไม่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการเรียนการสอน
อย่างจริงจัง ครูยังใช้วิธีการสอนแบบเดิม ๆ
และไม่พัฒนาศักยภาพด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้แล้ว
แนวนโยบายและมาตรฐานการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาที่กำหนดขึ้นมาก็คงเป็นแค่ความหวังที่อยากให้มี
มากกว่าที่จะเป็นรูปธรรมจริง
อย่างไรก็ตาม
การดำเนินงานพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษาของหน่วยงานทางการศึกษาและที่เกี่ยวข้อง
มีลักษณะเป็นไปอย่างอิสระทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ
ประกอบกับขาดความพร้อมทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์
อุปกรณ์ต่อเชื่อมระบบซอฟแวร์ เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ อันได้แก่
ปัญหาการผลิตข้อมูลปฐมภูมิที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วนตามที่ผู้ต้องการใช้
ปัญหาการจัดเก็บข้อมูลทุติยภูมิ ปัญหาการประสานงานเครือข่าย
รวมทั้งปัญหาการดำเนินงานสารสนเทศ ปัญหาต่างๆ
เหล่านี้ส่งผลไปถึงการจัดการศึกษาที่ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน
จากปัญหาข้างต้น
จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา
โดยมีพื้นฐานอยู่บนหลักการพัฒนาร่วมกันระหว่างหน่วยงานทางการศึกษาและที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้สามารถประสานการดำเนินงาน
และการนำทรัพยากรมาใช้ในการบริหารการวางแผนการจัดการศึกษา
และการฝึกอบรมร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติเป็นหน่วยประสานงานกลาง
ในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษา
การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอนนั้น (ครรชิต
มาลัยวงศ์,
2538) กล่าวถึงการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือสำหรับการศึกษาในลักษณะ
CAI
ยังไม่ก้าวหน้าในเมืองไทยเท่าที่ควร
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครูอาจารย์วิทยาศาสตร์ของไทยยังขาดทักษะในด้านการประกอบเครื่องมือวิทยาศาสตร์
ขาดความรู้เรื่องอิเล็กทรอนิกส์
และขาดความคิดสร้างสรรค์ที่จะพัฒนางานประยุกต์ทางด้านนี้ ด้วยเหตุนี้ CAI
จึงเน้นกันที่บทเรียนทางคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ยังไม่ใช่ในลักษณะที่เป็นการสอนเนื้อหาใหม่
ที่ผู้เรียนสามารถศึกษาด้วยตนเองได้ครบทุกขั้นตอนของกระบวนการเรียนการสอนตามหลักสูตร
และบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนั้นจะต้องสามารถใช้สอนแทนครูได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการเรียนรู้ได้ใกล้เคียงกับการเรียนรู้โดยมีครูเป็นผู้สอน
หากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีความสามารถดังกล่าว
ก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับวงการศึกษา
ปัญหาสำคัญในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการศึกษาในปัจจุบันของไทยไว้หลายประการ
( ครรชิต มาลัยวงศ์,
2540 ) สรุปได้ดังนี้
1. การนำคอมพิวเตอร์มาช่วยสอนในระดับต่าง ๆ นั้น
ยังเป็นงานที่อาจารย์ผู้สอน
ส่วนใหญ่สร้างซอฟต์แวร์ช่วยสอนเนื่องความอยากรู้อยากทดลอง
หรือสร้างเพื่อทำผลงานทางด้านวิชาการ
ซอฟต์แวร์ที่ได้จึงยังอยู่ในระดับจุลภาคเท่านั้น
ส่วนการวิจัยด้านนำคอมพิวเตอร์มาช่วยสอนเพื่อใช้งานอย่างจริงจังยังมีน้อย
ผลงานวิจัยที่ได้ยังขาดความชัดเจน เนื่องจากมองไม่เห็นภาพรวม
ว่าเนื้อหาที่สร้างขึ้นเป็นบทเรียนคอมพิวเตอร์นั้นนำไปใช้ในหลักสูตรตรงส่วนใดหรือจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาในหลักสูตรมากเพียงใดด้วยเหตุนี้
จึงมองเห็นได้ชัดว่าปัญหาใหญ่ ก็คือ
การที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับกระทรวง
ทบวงและสถาบันการศึกษายังขาดนโยบายและทิศทางที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้อย่างจริงจัง
คือขาดแนวคิดในระดับ
มหภาคที่จะทำให้การนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลจริง
2.
การขาดการผสมผสานเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอน
เนื่องจากการร่างหลักสูตรที่ผ่านมา
มุ่งแต่กิจกรรมที่ใช้วิธีการบรรยายในชั้นเรียนเท่านั้น ไม่ได้
คำนึงถึงการรองรับที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปประยุกต์ใช้ในหลักสูตร อาทิเช่น
ผู้สอนยึดคำบรรยายรายวิชาเป็นแนวทาง การสอน
ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้สอนจะตีความหมายคำบรรยายรายวิชา นั้น ๆ
เพื่อกำหนดขอบเขตของรายวิชานั้น ๆ
บางครั้งขาดความเหมาะสมในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้
3. การขาดการศึกษาวิจัย
ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการศึกษานั้นยังมีการศึกษาวิจัยระดับชาติที่รับผิดชอบโดยหน่วยงานของรัฐมีน้อยมาก
ยังมีปัญหาที่ยังหาคำตอบ ไม่ได้อีกหลาย ๆ ด้าน
เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการศึกษา
ผลงานวิจัยโดยส่วนใหญ่เป็นของนักศึกษาระดับปริญญาโท
4. การขาดแหล่งกลาง
ในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสารสนเทศเพื่อการศึกษาโดยตรง
หน่วยงานที่สนใจดำเนินงานด้านนี้อยู่แต่ก็ยังไม่มีผลงานที่เด่นชัด
ทำให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาอยู่ในวงแคบเท่านั้นทั้งที่เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษานับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของประชากรในประเทศเป็นอย่างยิ่ง
5. การขาดการสนับสนุน
นับว่าเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะนำเทคโนโลยี
สารสนเทศมาใช้เพื่อการศึกษาซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นส่วนใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้าน นโยบายของผู้บริหาร การจัดสรรงบประมาณ
การขาดความร่วมมือ
6.ขาดบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านการออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ช่วยการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระบบการเรียนการสอน
แต่ละท้องถิ่นของประเทศไทย ซึ่งมีความแตกต่างทางด้านสังคม เศรษฐกิจ
และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
ผู้มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์อย่างดีขาดความรู้ด้านการจัดระบบการศึกษา
และฝึกอบรมบุคลากรในสาขาวิชาชีพอื่นๆ
และผู้ที่มีความรู้ในด้านการจัดระบบการศึกษา
ปัญหาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่พบบ่อย
ปัญหาแรก “ด้านการออกแบบ”
ในเรื่องของการนำเสนองานในการนำเสนองานให้กับผู้บริหาร หรือ
ในการผลิตสื่อการเรียนการสอนให้กับครูผู้สอนในบางวิชา
ต้องมีการใส่เนื้อหาลงไปให้ได้มากที่สุดใน 1 แผ่นงาน โดยลืมคิดไปว่า
PowerPoint
ไม่ใช้โปรแกรมเวิร์ดที่ต้องบรรจุข้อมูลลงไปในแผ่นเดียวให้มากที่สุด
โดยลืมนึกถึงวัตถุประสงค์ของ PowerPoint
ว่าเป็นโปรแกรมที่เครื่องมือกระตุ้นให้ผู้ฟังได้คิดตาม
และเข้าใจในสิ่งที่เราพยายามนำเสนอ เป็นไม่ใช่ให้นักเรียน หรือ ผู้ฟังมาอ่าน
และจากการที่พยายามใส่เนื้อหาลงใน PowerPoint
1 แผ่นให้มากที่สุด สุดท้ายก็มักจะทำให้เราเอง หรือผู้นำเสนอออกมายืนอ่าน
PowerPoint
ให้คนฟัง และปัญหาอีกอย่างในการสร้างแบบเรียนโดยใช้ PowerPoint
คือการที่ใช้ Templates
ต่างๆ เพื่อให้ PowerPoint
ดูกิ๊บเก๋ แต่กลับเป็นสิ่งที่รบกวนสมาธิของผู้ฟังเป็นอย่างมาก
หรือแทบจะดึงดูดความสนใจไปจากเนื้อหาในบทเรียนไปเลยก็มี
จากปัญหาด้านการออกแบบที่ได้กล่าวไปนั้น ได้รับข้อคิดที่ดีที่สุดบทหนึ่ง นั่นคือ
PowerPoint
ที่มีประสิทธิภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้ความสามารถทางด้านเทคนิคของโปรแกรมให้มากที่สุด
แต่ขึ้นอยู่กับการใช้เทคนิคอย่างไรจึงจะเหมาะสมหรือพอเพียง อย่าให้เทคนิคของ
PowerPoint
เข้ามาแย่งความสนใจ
เพราะผู้นำเสนอต้องเป็นศูนย์กลางความสนใจไม่ใช่เทคนิคที่มากจนเกินพอดี
ปัญหาที่สอง “ด้านเทคนิค”
สิ่งที่พบบ่อยมากในการใช้งาน
บางอย่างก็เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยากซึ่งจำเป็นต้องสร้างทางเลือกอื่นๆ
ไว้หากไม่สามารถเลี่ยงปัญหานั้นได้ เช่น เปิดไฟล์ไม่ได้
นับเป็นปัญหาใหญ่มากเมื่อ save
มาแล้วแต่เปิดไม่ได้
ในกรณีนี้มักเกิดกับการใช้เครื่องของหน่วยงานหรือของผู้อื่นในการนำเสนอ
สาเหตุอาจจะเป็นเพราะ save
มาไม่สมบูรณ์ หรือใช้โปรแกรมคนละ version
กัน ทางที่ดีหากเราใช้ version
สูงๆ เช่น 2007 เราก็ควรจะ save
ไฟล์ version
2003 มาด้วย และก็ไม่ควร save
มาเพียงไฟล์เดียวในแฟลชไดร์ อาจจะสำรองไว้ในแผ่นซีดีด้วย
ปัญหาด้านเทคนิค เป็นสิ่งที่พบบ่อยมากในการใช้งาน
บางอย่างก็เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยากซึ่งจำเป็นต้องสร้างทางเลือกอื่นๆ
ไว้หากไม่สามารถเลี่ยงปัญหานั้นได้
อย่างไรก็ตาม
การดำเนินงานพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษาของหน่วยงานทางการศึกษาและที่เกี่ยวข้อง
มีลักษณะเป็นไปอย่างอิสระทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ
ประกอบกับขาดความพร้อมทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์
อุปกรณ์ต่อเชื่อมระบบซอฟแวร์ เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ อันได้แก่
ปัญหาการผลิตข้อมูลปฐมภูมิที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วนตามที่ผู้ต้องการใช้
ปัญหาการจัดเก็บข้อมูลทุติยภูมิ ปัญหาการประสานงานเครือข่าย
รวมทั้งปัญหาการดำเนินงานสารสนเทศ ปัญหาต่างๆ
เหล่านี้ส่งผลไปถึงการจัดการศึกษาที่ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น